AThaisilk Home  English  Search  Contact us

 

What's new
Product
Catalog
F.A.Q.
Customer Service
variety
Web board

หน้านี้มีอะไรบ้าง

1. ประวัติผ้าไหมไทย

2. การดูแลรักษาผ้าไหมอย่างถูกวิธี

3. ประเภทของผ้าไหมไทย

4. สาระน่ารู้เกี่ยวกับผ้าไหมไทย

5. กรรมวิธีการผลิตผ้าไหมไทย

 

นานาสาระเกี่ยวกับผ้าไหมไทย จาก AThaisilk1. Thai silk History ประวัติผ้าไหมไทย

                ผ้าไหมไทย  เป็นมรดกทางวัฒนธรรมการแต่งกายที่สืบสานกันมากว่า 3,000 ปี มาแล้ว  โดยมีแหล่งสำคัญอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้ขยายไปยังภาคเหนือตอนบน จนปัจจุบันได้แพร่กระจายไปทุกภูมิภาคของประเทศซึ่งมีความแตกต่างกันในลวดลายตามเชิงความคิดและวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่น

                ในอดีตผ้าไหมเป็นที่รู้จักกันในวงแคบๆ ของชุมชนที่ผลิตและใช้กันภายในกลุ่ม สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีวิสัยทัศน์ยาวไกล ได้ทรงนำผ้าไหมออกสู่ตลาดโลก จนเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Thai Silk หรือผ้าไหมไทย อย่างแพร่หลาย และการบินไทย ที่เป็นสายการบินแห่งชาติ ยังนำไปใช้เป็นคำขวัญว่า Smooth as Silk

2. การดูแลรักษาผ้าไหมไทยอย่างถูกวิธี

ผ้าชิ้น สำหรับผ้าไหมที่ซื้อมาใหม่
ก่อนจะนำผ้าไหมไปตัด ควรจะนำไปแช่น้ำหรืออบไอน้ำ ก่อนเพื่อให้ผ้าไหมคงรูปได้ดีขึ้นหลังการตัดเย็บ

 1. การซัก ทำความสะอาดผ้าไหม
1.1 ควรทำความสะอาดผ้าไหมให้ดูใหม่อยู่เสมอด้วยการซักด้วยน้ำยาซักแห้ง ชนิดอ่อนทุกครั้งไม่ควรซักด้วยผงซักฟอก และจะถนอมผ้าได้ดียิ่งขึ้นหากเป็นน้ำยาซักแห้งสำหรับซัก ทำความสะอาดผ้าไหมโดยเฉพาะ

1.2 ไม่แนะนำให้ซักผ้าไหมด้วยเครื่องซักผ้า เพราะจะทำให้ผ้าไหมยับมาก ผ้าดูเป็นขุยและทำให้ รีดยาก ควรซักผ้าไหมด้วยมือด้วย ขยี้และบิดเบาๆ ไม่ควรขยี้หรือบิดผ้าแรงๆ เพราะจะทำให้ผ้าเสียทรงได้
1.3 ไม่ควรแช่น้ำหรือน้ำยาซักต่างๆ แม้แต่น้ำยาซักแห้งใว้นานโดยเฉพาะ ผ้าไหมที่สีสด เช่น สีฟ้าสด สีชมพูสด สีส้มสด หลังจากซักเสร็จแล้วควรสลัดผ้าไหมให้คลายตัวและไม่ย่นก่อนนำไปตาก
เมื่อผ้าแห้งจะทำให้รีดผ้าไหมได้ง่ายขึ้น

2. การตากผ้าไหมภายหลังการซัก ทำความสะอาด
2.1 ควรตากในที่ร่ม หรือแดดอ่อนๆ เพื่อป้องกันสีซีด เนื่องจากแสงแดด หรือแสง อัลตร้าไวโอเล็ต (Ultraviolet)
2.2 ก่อนที่จะตากผ้า ควรสลัดเบาๆ ให้ผ้าคลายตัวก่อนตาก เพื่อให้ง่ายต่อการรีดเรียบ


3. การรีดผ้าไหม
3.1 ในการรีด แนะนำให้รีดด้วยเตารีดไอน้ำ

3.2 สำหรับเตารีดความร้อนควรใช้ไฟอ่อนและควรมีผ้าบางๆรองรีด ไม่ควรรีดโดยตรงที่ผ้าไหม

3.3 กรณีที่ต้องการใช้น้ำรีดผ้าเรียบ ควรใช้ตามสัดส่วนที่กำหนด ควรช้น้ำยารีดผ้าไหมโดยเฉพาะโดย ฉีดพรมน้ำยาให้ทั่ว แล้วใช้ความร้อนอ่อน

3.4 สำหรับผ้าไหมพิมพ์ลาย ให้ลดความร้อนลงจากปกติประมาณ 1-2 ระดับและควรใช้ผ้ารองรีด ไม่ควรรีดโดยตรงบนผ้าไหม เพราะจะทำให้ผ้าไหมขึ้นเงาไม่เท่ากันได้

4. การรีดผ้าไหมที่ยับมาก
ให้พรมน้ำหรือฉีดน้ำยาหมาดๆ แล้วพับให้เรียบร้อยใส่ถุงพลาสติก นำเข้าช่อง
แช่แข็งในตู้เย็นประมาณ 10 นาทีแล้วจึงนำออกมารีด จะทำให้รีดได้เรียบ
และง่ายกว่าเดิม เนื่องจากใยผ้ามีความชื้นอยู่ภายในอย่างสม่ำเสมอ

3. ประเภทของ ผ้าไหมไทย

                รูปแบบผ้าไหมไทย มีชื่อเรียกขานแตกต่างกันตามวิธีการผลิต และลวดลายของผ้า เช่น

  •  ผ้าไหมพื้น  เป็นผ้าไหมที่ทอลายขัด โดยใช้เส้นยืนละเส้นพุ่งธรรมดา สuเดียวตลอดทั้งผืน หรืออาจใช้เส้นยืนหรือเส้นพุ่งต่างกันก็ได้

  •  ผ้ามัดหมี่ เป็นผ้าไหมที่มีถิ่นกำเนิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีวิธีการทำด้วยการมัดด้ายให้เป็นลวดลายที่เส้นพุ่ง หรือเส้นยืนด้วยเชือก แล้วนำไปย้อมสีทีละขั้นตอนของลายผ้าที่มัดไว้ เพื่อให้ได้สีและลวดลายตามที่ต้องการ แล้วจึงนำมาทอเป็นผืนผ้าตามลวดลายที่มัดไว้

  •  ผ้าขัด เป็นผ้าไหมแบบทอยกลายในตัวด้วยกรรมวิธีเขี่ย หรือสะกิดเส้นได้ยืนขึ้น แล้วสอดเส้นพุ่งไปตามแนวเส้นยืน จังหวะการสอดเส้นด้าย จะทำให้เกิดลวดลายรูปแบบต่างๆ

  •  ผ้ายก เป็นผ้าไหมที่ทอยกลายในตัวโดยใช้เส้นพุ่งพิเศษเป็นดิ้นเงิน ดิ้นทอง โดยใช้วิธีการเก็บตะกรอเช่นเดียวกับการทอขิด มีทอกันอย่างแพร่หลายในภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน ภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่รู้จักกันในชื่อของ ไหมพุมเรียง

  •  ผ้าจก เป็นผ้าที่ใช้วิธีการเก็บและทอเช่นเดียวกับผ้าขิด แต่มีการทำลวดลายด้วยการเพิ่ม เส้นพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันตลอด มีการสลับสีและลวดลายได้ต่างๆกัน

  •  ผ้าแพรวา เป็นผ้าทอที่มีลักษณะลวดลายผสมระหว่างลายขิด และลายจก บนผืนผ้า แพรวา หมายถึงผ้าที่มีความยาวประมาณวา เพื่อใช้เป็นสไบและใช้ในงานพิธีต่างๆตามวัฒนธรรมของเขตภูไท ปัจจุบันได้มีการดัดแปลงให้เหมาะสมตามสมัยนิยม

  •  ผ้าไหมบาติก  เป็นผ้าไหมสีพื้นและนำมาเขียนลวดลายบนเนื้อผ้า ด้วยขี้ผึ้ง ( wax ) แล้วนำไปย้อมสีตามต้องการ จากนั้นจึงนำไปต้มเพื่อให้ขี้ผึ้งออก ก็จะได้ลวดลายสีสันสวยงาม

4. สาระน่ารู้เกี่ยวกับผ้าไทย

                  ผ้า  เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิตของมนุษย์ นอกจาก อาหาร  ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค  ในสังคมเกษตรจะมีการทอผ้าเพื่อใช้สอยภายในครอบครัว  โดยการถ่ายทอดวิธีการทอผ้าให้แก่สมาชิกที่เป็นเพศหญิง  ซึ่งนับว่าเป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม 

                  การทอผ้าของไทยมีมาแต่โบราณ  จากอดีตถึงปัจจุบันมนุษย์ได้พัฒนาการทอผ้าทั้งรูปแบบ เทคนิคการย้อมสี  และการออกแบบลวดลาย ดังปรากฏในจดหมายเหตุและพงศาวดารครั้งสมัยสุโขทัย  อยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีการทอผ้าตามกลุ่มชนต่างๆของไทย เช่น  ข่า กระโส้ กระเลิง ส่วย ฯลฯ

                  ผ้าทอ ในประเทศไทยแสดงถึง ศิลปะภูมิปัญญาของชุมชน  ซึ่งแบ่งประเภทของผ้าทอได้เป็นสองประเภท ตามวัตถุดิบในการทอ  และกรรมวิธีในการทอ คือ 

                  1. ผ้าทอที่แบ่งตามวัตถุดิบที่ใช้ ได้แก่  ฝ้ายและไหม 

  •  ฝ้าย เป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกทั่วไปในทุกภาคของประเทศไทย  เป็นพืชเขตร้อน ชอบดินปนทราย และอากาศโปร่ง ไม่ชอบที่ร่ม  เส้นใยของฝ้ายจะดูดความชื้นได้ง่าย  และเมื่อดูดความชื้นแล้วจะระเหยเป็นไอ  ดังนั้นเมื่อสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำด้วยผ้าฝ้ายจะมีความรู้สึกเย็นสบาย 
  •  ไหม เส้นใยไหมได้จากตัวไหม  ซึ่งส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงไหมกันใน ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  และภาคกลาง ตัวไหมมีลักษณะคล้ายหนอน  เมื่อแก่ตัวจะชักใยหุ้มตัวของมันเอง เรียกว่า รังไหม  รังไหมนี้จะนำมาสาวเป็น เส้นไหม  แล้วจึงนำไปฟอกด้วยการต้มด้วยด่างและนำมากวักเพื่อให้ได้  เส้นใยไหม  หลังจากนั้นจึงนำมาย้อมสีและนำไปทอเป็นผืนผ้าตามที่ต้องการ  เส้นไหมมีคุณสมบัติ ลื่น มัน และยืดหยุ่นได้ดี 

                  2. ผ้าทอที่แบ่งตามกรรมวิธีในการทอ  ซึ่งมีชื่อเรียกต่างกันออกไปตามลวดลายที่เกิดจากการทอบนผืนผ้า  เช่น 

  •  ผ้ามัดหมี่  มีกรรมวิธีการทอที่ทำให้ให้เกิดลวดลายโดยการย้อมเส้นฝ้ายให้ด่าง  โดยการผูกมัดให้เกิดช่องว่าง  การทอผ้ามัดหมี่แต่ละผืนต้องใช้เวลาและความประณีต  โดยจัดเรียงเส้นไหมและฝ้ายให้สม่ำเสมอ คงที่  กรรมวิธีต้องเรียงลำดับก่อนหลังให้ถูกต้อง  เพื่อทำให้เกิดลวดลายสวยงามตามต้องการ 
  •  ผ้าจก  การทอจกเป็นกรรมวิธีของการทอและการปักผ้าไปพร้อมๆกัน  การทอลวดลายใช้วิธีการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าเป็นช่องๆไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า  ซึ่งจะทำได้โดยใช้ไม้หรือขนเม่น หรือนิ้วมือยกขึ้น  เป็นการทอผสมการปักกลายๆ 
  •  ผ้าขิด เป็นการทอผ้าด้วยกรรมวิธี เขี่ย  หรือสะกิดเส้นด้ายยืนขึ้น แล้วสอดเส้นพุ่งไปตามแนวเส้นยืน  จังหวะการสอดเส้นด้ายพุ่งจะทำให้เกิดลวดลายรูปแบบต่างๆ 
  •  ผ้าแพรวา เป็นผ้าทอมือด้วยกรรมวิธีทอผ้าให้เกิดลวดลาย  ลักษณะผสมกันระหว่างลายขิดกับลายจก  ผ้าแพรวาต้องมีหลายๆลายอยู่ในผืนเดียวกัน 
  •  ผ้ายกดอก  มีกรรมวิธีการทอให้เกิดลวดลายในการยกตะกรอแยกด้ายเส้นยืน  แต่ไม่ได้เพิ่มเส้นด้ายยืน หรือ เส้นพุ่งพิเศษเข้าไปในผืนผ้า  แต่ในบางครั้งจะยกดอกด้วยการเพิ่มเส้นพุ่ง จำนวน สองเส้น  หรือมากกว่านั้นเข้าไป 

ผ้าทอกับโอกาสที่ใช้ 

  •  ผ้าพื้น ทอโดยการใช้ไหมเส้นพุ่ง  และไหมยืนสีเดียวเท่านั้น เช่น ไหมพุ่งเป็นสีเขียว ไหมเส้นยืนเป็นสีทอง  ใช้เป็นผ้านุ่ง หรือในโอกาสอื่นๆ 
  •  ผ้าสไบ มีลักษณะคล้ายผ้าขาวม้า ใช้พาดบ่าในงานบวช งานบุญ  และงานรื่นเริงต่างๆ 
  •  ผ้าโสร่ง เป็นผ้านุ่งสำหรับผู้ชาย ใช้นุ่งอยู่กับบ้าน  หรือใส่ไปในงานพิธีต่างๆ และเป็นผ้าไหว้พ่อ แม่ ของเจ้าบ่าวเจ้าสาว 
  •  ผ้านุ่ง ใช้นุ่งอยู่กับบ้าน ใช้ในงานพิธี  ใช้เป็นผ้าไหว้ในงานแต่งงาน ได้แก่ผ้าพื้น 
  •  ผ้าเก็บ ใช้สำหรับพาดบ่า ไปวัด หรืองานพิธีต่างๆ

ลวดลายและโทนสี

                  1. ผ้าขาวม้า  นิยมทอเป็นลายตาหมากรุก สีที่นิยมคือ สีแดงเขียว ขาว ดำ 

                  2. ผ้าสไบ นิยมทอเป็นสีพื้น และลายเหมือนผ้าขาวม้า 

                  3. ผ้าโสร่ง นิยมทอเป็นลายตาหมากรุกขนาดใหญ่ สีที่นิยม คือ สีแดง และ  สีเขียว 

                  4. ผ้านุ่ง มีหลายชนิด ได้แก่ 

                      4.1 ผ้าพื้น ไม่มีลวดลายบนผืนผ้า นิยมทอเป็นสีน้ำตาลทอง สีม่วง ขาว  น้ำเงินและเขียว 

                      4.2 ผ้าโฮล มีลักษณะเป็นลายเส้น ลายจะเป็นนูน มีหลายสีในหนึ่งผืน นิยม  สีเขียว ดำ เหลือง แดง ฯลฯ 

                      4.3 ผ้าโคน ลวดลายมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม อาจปรากฏร่วมกับลายอื่นๆ  สีที่นิยมคือ สีน้ำตาลทอง ม่วง เขียว น้ำเงิน แดง ฯลฯ 

                      4.4 ผ้ากระเนียว หรือหางกระรอก เป็นผ้าลายเส้นละเอียด สีที่นิยม คือ  สีเขียว แดง เหลือง 

                      4.5 ผ้าอันปรม มีลักษณะลวดลายคล้ายผ้าโฮล  แต่จะมีเส้นคั่นในแนวตั้งชัดเจนกว่าผ้าโฮล  ลายของผ้าเป็นลายเรียบไม่ใช่ลายนูนเหมือนผ้าโฮล

                      4.6 ผ้าสมอ เป็นผ้าที่มีลักษณะของลวดลายเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆ สีที่นิยม  คือ สีเขียว เหลือง และ แดง 

                      4.7 ผ้าคั่น มีลักษณะคล้ายๆผ้าโฮล  แต่จะมีเส้นคั่นในแนวตั้งชัดเจนกว่าผ้าโฮล สีที่นิยมคือ สีเขียว ดำ  เหลือง และแดง 

                      4.8 ผ้ามัดหมี่  คือผ้าที่มีลักษณะของลายผ้าที่เกิดจากการนำเส้นไหมไปมัดด้วยเชือกฟาง  หรือปอกล้วย แล้วนำไปย้อมสีเพื่อให้ได้ลวดลายตามที่ต้องการ เช่น  ลายต้นสน ลายไก่ ลายนกยูง ลายแมงมุม ฯลฯ สีที่นิยม คือ สีตองอ่อน สีแดง  น้ำเงิน เหลือง ม่วง 

                  การทอผ้าจะมีลักษณะพิเศษเป็นของตนเอง  โดยเฉพาะผ้าไหมเป็นผ้าพื้นเมืองประเภทหนึ่งที่นิยมกันมาก  เนื่องจากเป็นผ้าที่มีความคงทนอายุการใช้งานนาน รวมทั้งมีความสวยงาม  ความแวววาวของเนื้อผ้าไหม ผ้าไหมนอกจากจะเป็นสินค้าสำคัญแล้ว  ยังมีบทบาททางสังคมทางสังคมอีกด้วย เช่น การใช้ผ้าไหมที่ต่างชนิด  และมีลวดลายต่างกันจะเป็นเครื่องบ่งบอกถึงสถานะและสถานภาพทางสังคมได้อีกด้วย  ผ้าไหมที่มีชื่อของไทยได้มาจากภาคเหนือ และภาคอีสาน เช่น  ผ้าไหมจากหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย ภาคอีสาน จากจังหวัดอุดรธานี  สุรินทร์ เนื่องจากคุณภาพดี และสีสันลวดลายแปลกตา 

                  ปัจจุบันนี้ผ้าไหมได้พัฒนาจากการผลิตในครัวเรือนไปเป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรม  ที่มีแหล่งผลิตทั่วประเทศ ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตผ้าไหม  และผลิตภัณฑ์ไหมที่มีคุณภาพดีมีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง  มีมูลค่าการส่งออกเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ตลาดที่สำคัญได้แก่  สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น 

                  ในยุคที่ผ้าไทยก้าวสู่ความเป็นสากลโลก  ทำให้ไม่มีการจำกัดขอบเขตของการใช้ผ้าไทยอีกต่อไป  ไม่ว่าจะเป็นแนวแฟชั่นแบบไหนก็สามารถนำผ้าไทยมาดัดแปลงและปรับวิธีการใช้ได้หมด  แม้ว่าจะนำเอาผ้าไหม ผ้าเปลือกไหม และผ้าจก  มาออกแบบตัดเย็บให้ออกมาในรูปแบบใด  ก็สามารถประดิษฐ์ออกมาได้อย่างสวยงาม 

                  งานหัตถกรรมผ้าทอเกือบจะสูญหายไป  แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  ทรงให้การสนับสนุนและฟื้นชีวิตผ้าทอให้กลับคืนมาอีกครั้ง  โดยพระองค์ทรงสนับสนุนการใช้ผ้าไทยของแต่ละภาคในชุดฉลองพระองค์ในโอกาสต่างๆ 

5. Thai silk Making  กรรมวิธีการทำผ้าไหมไทย

                ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่พิถีพิถันละเอียดอ่อนมาก นับแต่การเลือกหม่อนซึ่งเป็นพืชยืนต้น ลำต้นเป็นทรงพุ่ม เพื่อใช้เป็นอาหารให้แก่หนอนไหม ที่กินแล้วลอกคราบเป็นไหมออกมา จากนั้นจึงนำไปอบแห้ง แต้มน้ำที่สะอาดเพื่อให้รังไหมพองตัว แล้วสาวเส้นไหมนี้เก็บรักษาด้วยวิธีการดั้งเดิมแต่โบราณ ทั้งอุปกรณ์และขั้นตอน เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีที่สุดเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง

                ส่วนขั้นตอนการทอเป็นผืนผ้า จะมีวิธีทอและสอดใส่ลวดลายตามแต่ภูมิภาคแตกต่างกันไป ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น ผ้ามัดหมี่ ผ้าจก ผ้าขิด ผ้าแพรวา ผู้ยกดอก เป็นต้น

กว่าจะเป็นผ้าไหมผืนงาม

  • การเลี้ยงไหม

วงจรชีวิตของไหมหรือหนอนไหมใช้เวลาประมาณ  45 - 52 วัน หนอนไหมจะกินใบหม่อนหลังจากฟักออกจากไข่ประมาณวันที่  10 จากนั้นจะหยุดกินอาหารและลอกคราบ ระยะนี้เรียกว่า ไหมนอน  ต่อจากนั้นจะกินนอนและลอกคราบประมาณ 4 ครั้งเรียกว่า ไหมตื่น  ลำตัวจะมีสีขาวเหลืองใสหดสั้น และหยุดกินอาหาร ระยะนี้เรียกว่า  หนอนสุก  ช่วงนี้ผู้เลี้ยงไหมต้องรีบแยกหนอนไหมสุกออกจากกองใบหม่อน  และเตรียม จ่อ  คืออุปกรณ์ที่จะให้ตัวไหมเกาะเพื่อชักใยห่อหุ้มตัว

หนอนจะเริ่มพ่นใยได้ประมาณ  6-7 วัน ก็จะสามารถเก็บรังไหมออกจากจ่อได้  เส้นใยของหนอนเกิดจากการขับของเหลวชนิดหนึ่ง  มีสารโปร่งแสงเป็นองค์ประกอบ  ใยไหมที่เห็นแต่ละเส้นจะประกอบด้วยเส้นใยเล็กๆ สองเส้นรวมกัน  สามารถฉีกแยกออกจากกันได้  ทั้งนี้รังไหมแต่ละรังจะให้สายไหมที่มีขนาดแตกต่างกัน  ชั้นนอกสุดของรังจะมีความละเอียดพอสมควร  ชั้นกลางจะเป็นเส้นหยาบและชั้นในสุดจะเป็นเส้นไหมที่ละเอียดที่สุด  ซึ่งหนอนไหมแต่ละตัวจะชักใยยาวไม่เท่ากัน อาจสาวได้ยาวตั้งแต่  350 - 1,200 

หนอนไหมจะเจาะรังออกมาเป็นผีเสื้อเมื่ออยู่ในรังครบ 10  วัน ซึ่งผู้เลี้ยงจะคัดไหมที่สมบูรณ์ไว้ทำพันธุ์  ส่วนที่เหลือนำไปสาวไหมก่อนที่ผีเสื้อจะเจาะรังออกมา  ซึ่งเส้นจะขาดและทำเส้นไหม

  • การสาวไหม

เมื่อได้รับไหมสดจะต้องนำไปอบให้แห้ง  จากนั้นนำไหมที่อบแห้งไปต้มในน้ำที่สะอาดที่มีคุณสมบัติเป็นกลาง  รังไหมจะเริ่มพองตัวออก ใช้ปลายไม้เกี่ยวเส้นใยออกมารวมกันหลายๆ  เส้น การสาวต้องเริ่มต้นจากขุยรอบนอกและเส้นใยภายในรวมกัน  เรียกว่า ไหมสาวหรือ ไหมเปลือกครั้นสาวถึงเส้นใยภายในแล้ว  เอารังไหมที่มีเส้นภายในแยกไปสาวต่างหาก เรียกว่า เส้นไหมน้อย  หรือ ไหมหนึ่ง  ผู้สาวไหมต้องมีความชำนาญและทักษะจึงจะได้เส้นไหมที่มีคุณภาพดี  เมื่อเติมรังไหมลงไปอีก รังไหมใหม่สามารถรวมเส้นกับรังไหมเก่าได้  โดยไม่ทำให้เส้นไหมขาด

  • การตีเกลียว

การตีเกลียวไหมจะช่วยทำให้ผ้าที่จะทอมีความหนา  หลังจากเอาไหมสองไหมสามออก ใช้ไม้คีบลักษณะคล้ายไม้พาย  มีร่องกลางสำหรับคีบ เกลี่ยรังไหมกดให้เส้นไหมตีเกลียวแน่นดูเล็ก  ต้องระมัดระวังและต้องอาศัยความชำนาญ  และมีเทคนิคในการทำให้รังที่ต้มเกาะกันเป็นเส้นตามขนาดที่ต้องการ  ทำให้เส้นไหมพันหรือไขว้กันหลายๆ รอบ  แล้วพักไว้ในกระบุง

ต่อจากนั้นจะนำมากรอเข้า กง  แล้วนำไปหมุนเข้า อักเพื่อตรวจหาปุ่มปม  หรือตัดแต่งเส้นไหมที่ไม่เท่ากันออก  จึงเอาเข้าเครื่องปั่นเพื่อให้เส้นไหมแน่นขึ้น  ก่อนที่จะหมุนเข้ากงอีกครั้ง เพื่อรวมเป็นไจ  ซึ่งหนึ่งไจจะต้องหมุนกง 80 รอบ เรียกว่า  ไหมดิบ

เส้นไหมดิบที่ได้จะต้องทำการชุบให้อ่อนตัว  โดยนำไปชุบน้ำสบู่อ่อนๆ ประมาณ 15-20 นาที  แล้วนำไปสลัดและผึ่งลมให้แห้ง  โดยหมั่นกระตุกให้เส้นไหมแยกตัวเพื่อนำไปเข้าระวิงได้

จากนั้นก็กรอเส้นไหมเข้าหลอดๆ  ละเส้น แล้วดึงปลายไหมแต่ละหลอดเข้าไปรวมกัน  ม้วนเข้าหลอดควบตามขนาดที่ต้องการ จากนั้นก็นำไปตีเกลียวประมาณ  330 รอบ ต่อความยาว 1 เมตร จากนั้นก็นำไหมไปนึ่งหรือลวก  เพื่อป้องกันมิให้เกลียวเส้นไหมหมุนกลับ  หลังจากนั้นก็จะชุบน้ำเย็นแล้วกรอเข้าระวิง เรียกว่า ทำเข็ด  ซึ่งจะทำให้เกลียวอยู่ตัว

  • การย้อมสี

การย้อมสีไหมจะต้องนำไหมดิบมาฟอกเพื่อไม่ให้มีไขมันเกาะ  โดยจะใช้ด่างจากขี้เถ้าไปฟอกไหม เรียกว่า การดองไหม  จะทำให้เส้นไหมขาวนวลขึ้น แล้วจึงนำไปย้อม  ในสมัยก่อนนิยมใช้สีจากธรรมชาติ เช่น สีแดงจากครั่ง ผลและใบคำแสด, รากยอป่า, มะไฟป่า หรือรากของต้นเข็ม  สีเหลืองจากแก่นของต้นเข  สีจำปาหรือสีส้มจากดอกคำแสดหรือดอกกรรณิการ์ สีน้ำเงินจากต้นคราม  สีเขียวจากเปลือกไม้มะหูด สีเขียวมะกอกจากแก่นไม้ขนุน  เปลือกนนทรีและเปลือกต้นตะแบก สีไพลจากใบสัปปะรดอ่อนกับน้ำมะนาว  สีน้ำตาลจะต้นหมาก สีม่วงจากต้นหว้า สีดำจากมะเกลือ รากต้นชะพลูและสมอ แต่ปัจจุบันการย้อมด้วยสีธรรมชาติเริ่มหายไป  เนื่องจากมีสีวิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่  ที่หาซื้อง่ายตามร้านขายเส้นไหมหรือผ้าไหม เมื่อละลายน้ำจะแตกตัว  ย้อมง่าย สีสดใส ราคาค่อนข้างถูก  ทนต่อการซักคŭ;อนข้างดี

การย้อมด้วยสีธรรมชาติมีข้อดี คือ  สีไม่ฉูดฉาด สีอ่อนเย็นตากว่าสีสังเคราะห์  จึงทำให้สีของผ้างดงามสัมพันธ์กับรูปแบบของผ้าพื้นเมือง  สีธรรมชาติจะติดสีได้ดีในเส้นไหมและฝ้าย วิธีย้อมคือ  การนำคั้นเอาน้ำจากพืชที่ให้สีนั้นๆ ต้มให้เดือด  จากนั้นนำไหมชุบน้ำให้เปียกบิดพอหมาด  กระตุกให้เส้นไหมเรียงเส้นจึงแช่ในน้ำย้อมสี นำไปผึ่งให้แห้ง  จะได้ไหมสีตามต้องการ

  • การทอผ้า 

ขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะออกมาเป็นผ้าผืนงาม  การทอผ้าไหมจะประกอบไปด้วยเส้นด้าย 2 ชุด คือ เส้นด้ายยืน  จะขึงไปตามความยาวผ้าอยู่ติดในเครื่องทอ หรือแกนม้วนด้านยืน  อีกชนิดหนึ่งคือ เส้นด้ายพุ่งจะถูกกรอเข้ากระสวย  เพื่อให้กระสวยเป็นตัวนำเส้นด้ายพุ่งสอดขัดเส้นด้ายยืนเป็นมุมฉาก  ทอสลับกันไปตลอดความยาวของผืนผ้า  การสอดด้ายพุ่งแต่ละเส้นต้องสอดให้สุดถึงริมแต่ละด้าน  แล้วจึงวกกลับมา จะทำให้เกิดริมผ้าเป็นเส้นตรงทั้งสองด้าน  ส่วนลวดลายของผ้านั้น  ขึ้นอยู่กับการวางลายผ้าของแต่ละ

  • อุปกรณ์การทอ

สันนิษฐานว่าคงมีหูกทอผ้าแล้วในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และอาจจะมีหลายแบบ  เป็นขนาดเล็กๆ  ทอด้วยมือชนิดตอกตรึงไว้กับพื้นหรืออาจเป็นชนิดที่มีแต่ฟืม  ไม่ต้องใช้โครงหูกอย่างที่ชาวเขานิยมทอในปัจจุบัน

กี่ 

มีขนาดใหญ่ประกอบไปด้วยโครงกี่ฟืม เขาหูกหรือตะกอ  ไม้ม้วนผ้าและหลักม้วนผ้า  ไม้สำหรับพาดนั่งเวลาคานเหยียบสำหรับดึงเส้นไหมและตะกอขึ้นลง  ไม้แกนม้วนไหมเส้นยืน คานแขวน กระสวย หลอดด้ายพุ่ง  ผังหรือสะดึงขึงผ้าให้ตึง มักจะวางใต้ถุนเรือน  และฝังเสากับพื้นดินแบบถาวร โครงกี่ประกอบด้วยเสา 4 เสา  คาน 9 คานบนมี 4 คาน คานล่างมี 1 คาน และคานกลาง 1 คาน  มีราวหูกทั้ง 4 ด้าน มีทั้งด้านบนและด้านล่าง

คานแขวน 

เป็นไม้ห้อยอยู่กับคานของกี่  ซึ่งคานของทั้งสองใช้แขวนเชือกที่ต่อมาจากเขาหรือตะกอ  เพื่อให้ตึงอยู่ตลอดเวลา

ฟืมหรือหวี

  คือเครื่องมือสำหรับทอผ้ามีฟันเป็นซี่ๆ  คล้ายหวีใช้สำหรับสอดไหมหรือเพื่อจัดเส้นไหมให้อยู่ห่างกัน  แล้วใช้กระทบไหมพุ่งที่สานตัดกันกับไหมยืนหรือไหมเครือเป็นผืนผ้า  การทอผ้าเนื้อหนาหรือเนื้อบางขึ้นอยู่กับฟันหวี

 ตะกอ

ใช้สำหรับแยก  เส้นด้ายให้ขึ้นเพื่อเปิด ให้จังหวะของเส้นด้าย  พุ่งสอดขัดกัน

ตะกอหลอก 

ตะกอแผงหรือเขาใหญ่และเขายาว  ใช้เป็นที่เก็บไม้ขิด  เพื่อส่งลายให้ทอโดยไม่ต้องเก็บขิด  เป็นลักษณะตะกอแนวตั้ง

ไม้  (ไม้กำพัน) 

ใช้สำหรับม้วนผ้าที่ทอแล้วไว้อีกส่วน ไม้แกนม้วนผ้านี้จะเหลาเป็นเหลี่ยม จะได้ยึดผ้าที่ม้วนเก็บไว้ไม่ให้ลื่น

ไม้ 

คือไม้สอดแทนไม้ขิดเพื่อให้ตะกอเปิดกว้าง  และสอดเส้นด้ายยืนพุ่งไป

ไม้ขิด  ใช้สำหรับคัด

กระสวยด้ายพุ่ง  คือเครื่องมือที่ใช้กรอด้ายสำหรับทอผ้า  นิยมทำจากเถาวัลย์เครือไส้ตันที่มีตรงกลางกลวง  หรือไม้อย่างอื่นเจาะรูตรงกลางเพื่อสอดไม้เล็กๆ  ที่ทำเป็นแกนของหลอดด้าย  เพื่อให้ด้ายหมุนไปตามแรงพุ่งของกระสวย

ไม้เหยียบหรือคานเหยียบ 

คือไม้ไผ่ 2 อันที่ผูกเชื่อมโยงกับเขาผูกหรือตะกอ  เพื่อใช้สำหรับเหยียบดึงเขาหูกทั้ง 2 อัน  ให้เส้นไหมยืนขึ้นลงสลับกัน  และเปิดช่องเพื่อพุ่งกระสวยไหมเข้าไปในร่องดังกล่าว  เส้นไหมทั้ง 2 ชนิดจะสานขัดกันเป็นเนื้อผ้า

ไม้นั่งทอผ้า

คือไม้กระดานหนาพอสมควร  และมีความยาวกว่ากี่เล็กน้อย ใช้เวลานั่งทอผ้า  ไม้นี้จะใช้พาดระหว่างหลักกี่ข้างหน้ากับหลักม้วนผ้า 

บ่ากี่

คือ ไม้ที่รองรับส่วนปลาย  2 ด้านของไม้ม้วนผ้า มี 2 หลัก  แต่ละหลักจะอยู่คนละข้างของหูก

กระสวย 

ใช้บรรจุหลอดไหมพุ่งสอดไประหว่างช่องว่างของเส้นไหมยืน  ต้นและปลายเรียวตรงกลางเจาะเป็นช่องสำหรับใส่หลอดด้าย

ผัง

 เป็นไม้ที่ขึงไว้ตามความกว้างของผ้าที่ทอ  เพื่อให้หน้าผ้าตึงพอดีกับฟืม และเพื่อทำให้ลายผ้าตรง  ไม่คดไปคดมา